2557-01-06



มนุษย์เรารับรู้ถึงความสวยความงาม ความพอใจ ของสิ่งต่างๆได้แตกต่างกับ ระดับความพอใจของแต่ละบุคคล

ก็แตกต่างกันออกไปทั้งนี้อาจขึ้นกับรสนิยม สภาพสังคม ศาสนา ความเชื่อและสิ่งแวดล้อมที่ผู้รับรู้นั้นดำรงชีวิตอยู่

หากแต่ว่าผู้รับรู้นั้นได้เข้าใจถึงกระบวนการ องค์ประกอบและพื้นฐานที่สำคัญของสิ่งที่ได้สัมผัส ก็ย่อมทำให้รับรู้ถึงความงาม

ความพอใจนั้นๆเกิดขึ้นได้อย่างแท้จริง

ศิลปะนั้นดูเหมือนว่าจะไม่มีกฎเกณฑ์อะไรมากนัก เพราะอาศัยแต่ความสุนทรียะทางอารมณ์เพียงประการเดียว

แต่หากว่าได้ศึกษาถึงความสุนทรียะอย่างลึกซึ้งแล้ว จะเห็นว่ามันมีกฎเกณฑ์ในตัวของมันเอง ซึ่งผู้เรียนจะต้องศึกษาถึง

องค์ประกอบต่างๆเหล่านั้นที่ประกอบกันขึ้นเป็นงานศิลปะ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือผู้เรียนจะต้องเข้าใจในหลัก

องค์ประกอบของศิลปะ เป็นพื้นฐานเสียก่อนจึงจะสามารถสร้างสรรค์งานศิลปะที่มีคุณค่าและรับรู้ถึงความงามทางศิลปะ

ได้อย่างถูกต้อง


1. ความหมายขององค์ประกอบศิลป์ องค์ประกอบของศิลปะหรือ(Composition )นั้นมาจากภาษาละติน

โดยคำว่า Post นั้นหมายถึง การจัดวาง และคำว่า Comp หมายถึง เข้าด้วยกัน ซึ่งเมื่อนำมารวมกันแล้วในทางศิลปะ

Composition จึงหมายความถึง องค์ประกอบของศิลปะ การจะเกิดองค์ประกอบศิลป์ได้นั้น ต้องเกิดจากการเอาส่วน

ประกอบของศิลปะ (Element of Art) มาสร้างสรรค์งานศิลปะเข้าด้วยหลักการจัดองค์ประกอบศิลป์ (Principle of Art)

จึงจะเป็นผลงานองค์ประกอบศิลป์ ความหมายขององค์ประกอบศิลป์นั้นได้มีนักวิชาการหลายท่านได้ให้ความหมายเอาไว้

ซึ่งพอสรุปได้ดังนี้


คำว่าองค์ประกอบ ตามความหมายพจนานุกรมราชบัณฑิยสถานคือ ส่วนต่างๆที่ประกอบกันทำให้เกิดรูปร่างใหม่ขึ้นโดยเฉพาะ


องค์ประกอบศิลป์ หมายถึง สิ่งที่ศิลปินและนักออกแบบใช้เป็นสื่อในการแสดงออกและสร้างความหมาย

โดยนำมาจัดเข้าด้วยกันและเกิดรูปร่างอันเด่นชัด (สวนศรี ศรีแพงพงษ์ : 82)


องค์ประกอบศิลป์หมายถึง เครื่องหมายหรือรูปแบบที่นำมาจัดรวมกันแล้วเกิดรูปร่างต่างๆ ที่แสดงออกในการสื่อ

ความหมายและความคิดสร้างสรรค์ (สิทธิศักดิ์ ธัญศรีสวัสดิ์กุล : 56)


องค์ประกอบศิลป์ หมายถึงศิลปะที่มนุษย์สร้างขึ้นเพื่อแสดงออกทางอารมณ์ ความรู้สึก ความคิดหรือความงาม

ซึ่งประกอบด้วย ส่วนที่มนุษย์สร้างขึ้นและส่วนที่เป็นการแสดงออกอันเป็นผลที่เกิดจากโครงสร้างทางวัตถุ

(ชลูด นิ่มเสมอ :18)


องค์ประกอบศิลป์หมายถึง ส่วนประกอบต่างๆของศิลปะ เช่น จุด เส้น รูปร่าง ขนาด สัดส่วน น้ำหนัก แสง เงา

ลักษณะพื้นผิว ที่ว่างและสี (มานิต กรินพงศ์:51)


องค์ประกอบศิลป์คือความงาม ความพอดี ลงตัว อันเป็นรากฐานเนื้อหาของศิลปะ อีกทั้งยังเป็นเครื่องมือที่สำคัญ

ทางศิลปะให้ผู้สร้างสรรค์ได้สื่อสารความคิดของตนเองไปสู่บุคคลอื่น (สุชาติ เถาทอง,สังคม ทองมี,ธำรงศักดิ์ ธำรงเลิศ

ฤทธิ์,รอง ทองดาดาษ: 3)


จากความหมายต่างๆข้างต้น พอสรุปได้ว่า องค์ประกอบศิลป์ หมายถึงสิ่งที่มนุษย์ใช้เป็นสื่อ

ในการแสดงออกอย่างสร้างสรรค์ โดยนำส่วนประกอบของศิลปะมาจัดวางรวมกันอย่างสอดคล้องกลมกลืนและมีความหมาย

เกิดรูปร่างหรือรูปแบบต่างๆอันเด่นชัด


ซึ่งจากความหมายข้างต้น จะเห็นได้ว่าการที่จะเกิดผลงานศิลปะดีๆสักชิ้นนั้นผู้สร้างสรรค์จะต้องใช้กระบวนการ

ที่หลากหลายมาประกอบกันได้แก่ องค์ประกอบพื้นฐานทางศิลปะ องค์ประกอบของศิลปะ และการจัดองค์ประกอบ

ของศิลปะ มาถ่ายทอดลงในชิ้นงานหรือผลงานนั้นๆเพื่อให้ได้ผลงานที่มีคุณค่าทั้งด้านความงามและมีคุณค่าทางจิตใจ

อันเป็นจุดหมายสำคัญที่ศิลปินทุกคนมุ่งหวังให้เกิดแก่ผู้ชมทั้งหลาย


2.ความสำคัญขององค์ประกอบศิลป์ ในการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะในสาขาต่างๆไม่ว่าจะเป็นสาขาวิจิตรศิลป์

หรือประยุกต์ศิลป์ ผู้สร้างสรรค์นั้นต้องมีความรู้เบื้องต้นด้านศิลปะมาก่อน และศึกษาถึงหลักการองค์ประกอบพื้นฐาน

องค์ประกอบที่สำคัญ การจัดวางองค์ประกอบเหล่านั้น รวมถึงการกำหนดสี ในลักษณะต่างๆเพิ่มเติมให้เกิดความเข้าใจ

เพื่อเวลาที่สร้างผลงานศิลปะ จะได้ผลงานที่มีคุณค่า ความหมายและความงามเป็นที่น่าสนใจแก่ผู้พบเห็น

หากสร้างสรรค์ผลงานโดยขาดองค์ประกอบศิลป์ ผลงานนั้นอาจดูด้อยค่า หมดความหมายหรือไม่น่าสนใจไปเลย

ดังนั้น จะเห็นได้ว่าองค์ประกอบศิลป์นั้นมีความสำคัญอย่างมากในการสร้างงานศิลปะ

มีนักการศึกษาด้านศิลปะหลายท่านได้ให้ทรรศนะในด้านความสำคัญขององค์ประกอบศิลป์ที่มีต่อการสร้างงานศิลปะไว้

พอจะสรุปได้ดังนี้


การสร้างสรรค์งานศิลปะให้ได้ดีนั้น ผู้สร้างสรรค์จะต้องทำความเข้าใจกับองค์ประกอบศิลป์เป็นพื้นฐานเสียก่อน

ไม่เช่นนั้นแล้วผลงานที่ออกมามักไม่สมบูรณ์เท่าไรนักซึ่งองค์ประกอบหลักของศิลปะก็คือรูปทรงกับเนื้อหา

(ชลูด นิ่มเสมอ)


องค์ประกอบศิลป์เป็นเสมือนหัวใจดวงหนึ่งของการทำงานศิลปะ เพราะในงานองค์ประกอบศิลป์หนึ่งชิ้น

จะประกอบไปด้วย การร่างภาพ(วาดเส้น) การจัดวางให้เกิดความงาม (จัดภาพ) และการใช้สี(ทฤษฎีสี)

ซึ่งแต่ละอย่างจะต้องเรียนรู้สู่รายละเอียดลึกลงไปอีก องค์ประกอบศิลปืจึงเป็นพื้นฐานสำคัญที่รวบรวมความรู้หลายๆอย่างไว้

ด้วยกัน จึงต้องเรียนรู้ก่อนที่จะศึกษาในเรื่องอื่นๆ (อนันต์ ประภาโส)


องค์ประกอบศิลป์ การจัดองค์ประกอบและการใช้สี เป็นหลักการที่สำคัญในการสร้างสรรค์ให้งานศิลปะ

เกิดความงาม ไม่ว่าจะเป็นจิตรกรรม วาดเขียน ประติมากรรม สถาปัตยกรรมและการพิมพ์ภาพ หากปราศจากความรู้

ความเข้าใจเสียแล้วผลงานนั้นๆก็จะไม่มีค่าหรือความหมายใดๆเลย (สวนศรี ศรีแพงพงษ์)


องค์ประกอบศิลป์จัดเป็นวิชาที่มีความสำคัญสำหรับผู้ศึกษางานศิลปะ หากว่าขาดความรู้ความเข้าใจในวิชานี้แล้ว

ผลงานที่สร้างขึ้นมาก็ยากที่ประสบความสำเร็จ โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานศิลปะสมัยใหม่ที่มีการแสดงเฉพาะ เส้น สี แสง เงา

น้ำหนัก พื้นผิว จังหวะ และบริเวณที่ว่าง มีความจำเป็นอย่างยิ่งต้องนำหลักการองค์ประกอบศิลป์มาใช้

หลักการจัดองค์ประกอบศิลป์มีความวำคัญและเกี่วข้องกับงานทัศนศิลป์โดยตรง ทั้งวิจิตรศิลป์และประยุกต์ศิลป์

การจัดภาพหรือออกแบบสร้างสรรค์ผลงานทัศนศิลป์ให้เกิดคุณค่าความงามนั้น การจัดองค์ประกอบศิลป์จะมีบทบาทสำคัญ

มากที่สุด (จีรพันธ์ สมประสงค์: 15)


จากทรรศนะต่างๆ สรุปได้ว่า องค์ประกอบศิลป์เป็นหัวใจสำคัญของงานศิลปะทุกสาขา เพราะงานศิลปะใดหากขาด

การนำองค์ประกอบศิลป์ไปใช้ ก็จะทำให้งานนั้นดูไม่มีคุณค่า ทั้งด้านทางกายและทางจิตใจของผู้ดูหรือพบเห็นขณะเดียวกัน

ก็จะบ่งบอกถึงภูมิความรู้ ความสามารถของผู้สร้างสรรค์ผลงานนั้นด้วย

การที่จะเข้าถึงศิลปะ(Appreciation) นั้น จะต้องผ่านการฝึกฝนและหาทางดูเพื่อให้เกิดความเข้าใจ ทั้งจะต้องมี

รสนิยมที่ดีพอสมควร การฝึกฝน การทำซ้ำๆอย่างสนใจ เมื่อนานเข้าก็จะเกิดความเข้าใจ ทำด้วยความคุ้นเคยกับสิ่งเหล่านั้น

จึงจะเข้าใจ รู้เห็นในคุณค่าของศิลปะนั้นๆได้ดี


องค์ประกอบพื้นฐานด้านนามธรรมของศิลปะ

องค์ประกอบพื้นฐานด้านนามธรรมของศิลปะ เป็นแนวคิด หรือจุดกำเนิดแรกที่ศิลปินใช้เป็นสิ่งกำหนดทิศทาง

ในการสร้างสรรค์ ก่อนที่จะมีการสร้างผลงานศิลปะ ประกอบด้วย เนื้อหากับเรื่องราว

1.เนื้อหาในทางศิลปะ คือ ความคิดที่เป็นนามธรรมที่แสดงให้เห็นได้โดยผ่านกระบวนการทางศิลปะ เช่น

ศิลปินต้องการเขียนภาพที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับชนบท ก็จะแสดงออกโดยการเขียนภาพทิวทัศน์ของชนบท

หรือภาพวิถีชิวิตของคนในชนบทเป็นต้น

2.เรื่องราวในทางศิลปะ คือส่วนที่แสดงความคิดทั้งหมดของศิลปินออกมาเป็นรูปธรรมด้วยกระบวนการทางศิลปะ

เช่นศิลปินเขียนภาพชื่อชาวเขา ก็มักแสดงรูปเกี่ยวกับวิถีชีวิต หรือกิจกรรมส่วนหนึ่งของชาวเขา นั่นคือเรื่องราว

ที่ปรากฏออกมาให้เห็น

ประเภทของความสัมพันธ์ของเนื้อหากับเรื่องราวในงานทัศนศิลป์นั้น เนื้อหากับเรื่องราวจะมีความสัมพันธ์กัน

น้อยหรือมาก หรืออาจไม่สัมพันธ์กันเลย หรืออาจไม่มีเรื่องเลยก็เป็นไปได้ทั้งนั้น โดยขึ้นกับลักษณะของงาน และเจตนา

ในการแสดงออกของศิลปิน ซึ่งเราสามารถแยกได้ดังต่อไปนี้คือ

(1) การเน้นเนื้อหาด้วยเรื่อง

(2) เนื้อหาที่เป็นผลจากการผสมผสานกันของศิลปินกับเรื่อง

(3) เนื้อหาที่เป็นอิสระจากเรื่อง

(4) เนื้อหาไม่มีเรื่อง


1. การเน้นเนื้อหาด้วยเรื่อง ได้แก่ การใช้เรื่องที่ตรงกับเนื้อหา และเป็นตัวแสดงเนื้อหาของงานโดยตรง

ตัวอย่างเช่น เมื่อศิลปินต้องการให้ความงามทางด้านดอกไม้เป็นเนื้อหาของงาน เขาก็จะหาดอกไม้ที่สวยงามมาเป็นเรื่อง

สีสันและความอ่อนช้อยของกลีบดอกจะช่วยให้เกิดความงามขึ้นในภาพ

2. เนื้อหาที่เป็นผลจากการผสมผสานระหว่างศิลปินกับเรื่อง ในส่วนนี้ศิลปินจะเสนอความเห็นส่วนตัว หรือผสม

ความรู้สึกส่วนตัวเข้าไปในเรื่อง เป็นการผสมกันระหว่างรูปลักษณะของเรื่องกับจินตนาการของศิลปิน เช่นเรื่องความงาม

ของดอกไม้ โดยศิลปินผสมความรู้สึกนึกคิดของตนเองลงไปในเรื่องด้วย เขาจะดัดแปลง เพิ่มเติมรูปร่างของดอกไม้

ให้งามไปตามทัศนะของเขาและใช้องค์ประกอบทางศิลปะเป็นองค์ประกอบทางรูปทรงให้สอดคล้องกับความงามของเรื่อง


3. เนื้อหาที่เป็นอิสระจากเรื่อง เมื่อศิลปินผสมจินตนาการของตนเองเข้าไปในงานมากขึ้น ความสำคัญของเรื่อง

จะลดลง ดอกไม้ที่สวยที่เป็นแบบอาจถูกศิลปินตัดทอนขัดเกลา หรือเปลี่ยนแปลงมากที่สุด จนเรื่องดอกไม้

นั้นหมดความสำคัญไปอย่างสิ้นเชิง เหลือแต่เนื้อหาที่เป็นอิสระ การทำงานแบบนี้ศิลปินอาศัยเพียงเรื่อง เป็นจุดเริ่มต้นแล้ว

เดินทางห่างออกจากเรื่องจนหายลับไป เหลือแต่รูปทรงและตัวศิลปินเองที่เป็นเนื้อหาของงาน กรณีนี้เนื้อหาภายในซึ่ง

หมายถึงเนื้อหาที่ที่เกิดขึ้นจากการประสานกันของรูปทรงจะมีบทบาทมากกว่าเนื้อหาภายนอก หรือบางครั้งจะไม่แสดงเนื้อหา

ภายนอกออกมาเลย


4. เนื้อหาไม่มีเรื่อง ศิลปินบางประเภท ไม่มีความจำเป็นต้องใช้เรื่องเป็นจุดเริ่มต้น งานของเขาไม่มีเรื่อง มีแต่รูปทรง

กับเนื้อหา โดยรูปทรงเป็นเนื้อหาเสียเองโดยตรง เป็นเนื้อหาภายในล้วนๆ เป็นการแสดงความคิด อารมณ์ และบุคลิกภาพ

ของศิลปินแท้ๆ ลงไปในรูปทรงที่บริสุทธิ์ งานประเภทนี้จะเห็นได้ชัดในดนตรีและงานทัศนศิลป์ที่เป็นนามธรรม

และแบบนอนออบเจคตีฟ


องค์ประกอบพื้นฐานด้านรูปธรรมของศิลปะองค์ประกอบพื้นฐานด้านรูปธรรมของศิลปะ คือสิ่งที่แสดงแนวดิดเกี่ยวกับ

เนื้อหาและเรื่องราวของศิลปินให้เห็นหรือรับรู้ผ่านผลงานศิลปะ ประกอบด้วย เอกภาพ ดุลยภาพ และจุดเด่น


1. เอกภาพหมายถึงการนำองค์ประกอบของศิลปะมาจัดเข้าด้วยกันให้แต่ละหน่วยมีความสัมพันธ์ เกี่ยวข้องซึ่งกันและกัน

ประสานกลมกลืนเกิดเป็นผลรวมที่แบ่งแยกไม่ได้ โดยถ่ายทอดเป็นผลงานศิลปะด้วยกระบวนการศิลปะ


2. ดุลยภาพ คือการนำองค์ประกอบของศิลปะมาจัดเข้าด้วยกันให้เกิดความเท่ากันหรือสมดุล โดยมีเส้นแกนสมมุติ 2 เส้น

เป็นตัวกำหนดดุลยภาพเส้นแกนสมมุติจะทำหน้าที่แบ่งภาพออกเป็นด้านซ้านและด้านขวา หรือด้านบนและด้านล่าง

เพื่อให้ผลงานศิลปะที่ปรากฏเกิดความสมดุลในลักษณะใดลักษณะหนึ่ง เช่นแบบซ้ายขวาเหมือนกันและแบบซ้าย ขวา ไม่

เหมือนกัน

3. จุดเด่น คือ ส่วนที่สำคัญในภาพ มีความชัดเจนสะดุดตาเป็นแห่งแรก รับรู้ได้ด้วยการมองผลงานที่สำเร็จแล้ว

จุดเด่นจะมีลักษณะการมีอำนาจ ตระหง่าน ชัดเจนกว่าส่วนอื่นทั้งหมด โดยเกิดจากการเน้นให้เด่นในลักษณะใดลักษณะนึ่ง

เช่น จุดเด่นที่มีความเด่นชัด หรือจุดเด่นที่แยกตัวออกไปให้เด่น

2556-01-19

ขอบเขตของการสร้างสรรค์และการลอกเลียนแบบศิลปะในวัฒนธรรม Modern และ Postmodern


การสร้างสรรค์งานศิลปะมักหลีกเลี่ยงไม่ได้จากการถูกวิพากษ์วิจารณ์ ในทางที่ดีคือได้รับคำชมว่าด้วยการสร้างสรรค์ที่มีคุณภาพ มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์สิ่งใหม่ และเป็นตัวของตัวเองไม่ซ้ำกันกับผลงานของใคร ในทางตรงกันข้ามกัน การได้รับคำวิพากษ์วิจารณ์ทั้งในทางตรงหรือทางอ้อมว่าผลงานคล้ายคลึงกับผลงานของศิลปินที่เคยสร้างผลงานมาแล้ว
ซึ่งกล่าวโดยง่ายว่าเป็นการลอกเลียนแบบ หรือได้รับอิทธิพลจากศิลปินใดๆ ผลงานศิลปะชิ้นนั้นจึงกลายเป็นข้อ กังขาว่า เป็นผลงานสร้างสรรค์หรือการลอกเลียนแบบกันแน่ เหตุของความคล้ายคลึงในทางศิลปะนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในแวดวง
ศิลปะบ้านเราเท่านั้น แต่ความคล้ายคลึงซึ่งเสมือนหนึ่งการลอกเลียนแบบนี้ได้เกิดขึ้นเป็นสากล ทั้งนี้เป็นเพราะทุกสิ่ง
ทุกอย่างในโลกใบนี้ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี สารสนเทศ รวมถึงศิลปะด้วยนั้นได้ถูกคิดค้นขึ้นมาใหม่แทบทั้งสิ้นจน
หมดแล้วในยุคสมัยที่เรียกว่า ยุค
Modern ยุคปัจจุบันหรือ ที่เรียกกันค่อนข้างเป็นทางการอย่างโก้หรูว่า ยุค Postmodern 
หรือยุคหลังสมัยใหม่ จึงไม่มีอะไรใหม่นั่นไม่ได้หมายความว่านักประดิษฐ์คิดค้นคว้าต่างๆ หรือศิลปินไม่มีความคิด
สร้างสรรค์ แต่ดังที่กล่าวแล้วคือทุกอย่างได้ถูกคิดค้นขึ้นแล้วในยุค
Modern ในสมัยนี้จึงเป็นเสมือนหนึ่งตลาดขนาดใหญ่
สำหรับจับจ่ายใช้สอย และหยิบยืมนำมาใช้ในการอ้างอิง อ้างถึง ตลอดจนมีบทบาทและมีอิทธิพลสูงต่อการสร้างสรรค์ใน
ยุคนี้ฯลฯ การสร้างสรรค์สิ่งต่างๆในยุค
Postmodern จึงไม่มีอะไรใหม่ แต่ความไม่มีอะไรใหม่ในผลงานนี่แหละคือความ
ใหม่ในวัฒนธรรม
Postmodern
ศิลปะในวัฒนธรรม Modern นั้นศิลปินสนใจ และสร้างงานจากความรู้และการเปลี่ยนแปลงของวิทยาศาสตร์ในราวคริสตศตวรรษที่ 18 - 19 หลังจากที่ นิวตัน ค้นพบทฤษฎีแรงโน้มถ่วง ผลการค้นพบของนิวตันส่งผลให้เกิดโลกทัศน์ใหม่ เจมส์วัตต์ คิดค้นและประดิษฐ์กลจักรไอน้ำ เป็นการนำสังคมสู่ยุคอุตสาหกรรมโลหะ ยุคนี้จึงเป็นยุคแห่งการศึกษา เกิดทฤษฎีการมองแบบแยกส่วนนั่นคือทุกสิ่งทุกอย่างเกิดด้วยสาเหตุที่สืบต่อเนื่องกันตามกฎเกณฑ์ การมองแบบแยกส่วน
นั้นคือการวิเคราะห์แยกสิ่งต่างออกเป็นส่วนย่อยแล้วมองความสัมพันธ์ของส่วนย่อยนั้นๆ แนวคิดนี้เป็นแนวคิดในการ
ปฏิวัติทางอุตสาหกรรม การวิเคราะห์ลึกซึ้งในแต่ละสาขาก็ก่อให้เกิดความสัมพันธ์ระหว่างความรู้ในแต่ละสาขาด้วย
 
เป็นเหตุก่อเกิดการสังเคราะห์ ประดิษฐกรรมใหม่ๆ และการผลิตประดิษฐกรรมเป็นจำนวนมากๆเช่น กล้องถ่ายภาพ
 
เครื่องกำเนิดไฟฟ้า โทรศัพท์ รถยนต์ เครื่องบิน ฯลฯ รวมทั้งการใช้ทรัพยากรและพลังงานต่างๆมากมาย ในทางศิลปะนั้น
ความก้าวหน้าทางวิทยาการและเทคโนโลยีทำให้เกิดศิลปะที่เรียกกันว่า
Modern Art หรือ ศิลปะสมัยใหม่ เมื่อนิวตันค้น
พบการเกิดสีต่างๆที่เกิดจากแสงส่องผ่านแท่งปริซึม และการค้นพบทฤษฎีแสงอาทิตย์ที่มีต่อการมองเห็นสี อันมีผลต่อการ
แสดงออกในผลงานของศิลปินกลุ่ม
Impressionism ซึ่งเป็นปฐมบทของศิลปะสมัยใหม่ หลังจากนั้นกลุ่ม
Neo- Impressionism ก็นำทฤษฎีรูปทรง และการใช้แบบเรขาคณิต และทฤษฎีการเกิดสีและรูปทรงที่เกิดจากจุดสีต่างๆ
ที่มีผลต่อการมองเห็นนำมาสร้างสรรค์ผลงาน ส่วนทฤษฎีความสัมพันธ์ของการวิเคราะห์แยกส่วนย่อยที่มีอิทธิพลในงาน
ศิลปะเช่น ศิลปินกลุ่ม
Cubism ซึ่งแสดงพลังแห่งเครื่องจักรกล และอุตสาหกรรมโดยนัย Cubism ใช้ Form และ Space 
สัมพันธ์กันเหมือน อิเล็กตรอน และ นิวเคลียส พอลล็อค และศิลปินในกลุ่ม
Abstract Expressionism ก็แสดงการ
เคลื่อนไหว และความสัมพันธ์ของสีดังเช่นทฤษฎีสัมพันธภาพและทฤษฎีควันตัมของ อัลเบิร์ต ไอสไตน์ และทฤษฎีแนวคิด
จิตวิเคราะห์โดย ฟรอยด์ ก็ส่งอิทธิพลแก่ศิลปินกลุ่ม
Sur-realism หรือ ศิลปะ Op - art เกี่ยวกับจิตวิทยาของการรับรู้ทาง
สายตา
Pop Art ก็สะท้อนความ สนใจและได้รับอิทธิพลจากเทคโนโลยี และผลผลิตในอุตสาหกรรม ความเจริญอย่าง
รวดเร็วของเครื่องจักรกลและวิทยาการทางเทคโนโลยีต่างๆ ก็ส่งผลสะท้อนในงาน
Futurism ดังนี้เป็นต้น ศิลปะสมัยใหม่ 
จึงแตกแยกสาขาต่างๆ มากมายเช่นเดียวกับการคิดค้นทางวิทยาการและเทคโนโลยีที่สอดคล้องกันตามกระแสวัฒนธรรม
Modern
คิม เลวิน นักวิจารณ์ศิลปะกล่าวว่า ศิลปะสมัยใหม่มีลักษณะที่เด่นชัดดังนี้คือ
Ahistorical นับถือค่านิยมแบบนักวิทยาศาสตร์ วิทยาศาสตร์นิยม ศิลปะนิยมด้วย และไม่สนใจ ประวัติศาสตร์ หรือศิลปะ
ในอดีต มุ่งเน้นการคิดค้นสิ่งใหม่ๆเช่นเดียวกับวิทยาศาสตร์
Scientific ( Analytical ) ศิลปะสมัยนี้เป็นเรื่องการวิเคราะห์แบ่งแยกเพื่อความเข้าใจ
Self - Referentical ศิลปะมีความหมายที่ตัวของมันเอง อะไรที่อยู่นอกศิลปะวัตถุจะไม่เกี่ยวข้อง
Reductionistic ตัดส่วนที่ไม่จำเป็น หรือไม่สำคัญทิ้งจนเหลือเฉพาะ แกน เป็นค่านิยมที่สำคัญของศิลปะในสมัยนี้
Competition มีการแข่งขันเหมือนวัตถุนิยม มีการเสี่ยง การลงทุน เพื่อความก้าวหน้า
Meyer Shapiro กล่าวว่า ศิลปะสมัยใหม่นิยมสิ่งประดิษฐ์ เราสร้างศิลปวัตถุแทนที่จะเป็นภาพที่เราสร้างขึ้น Shapiro เน้น
ว่างานศิลปะสมัยใหม่นี้เป็นศิลปวัตถุ
ศิลปะสมัยใหม่เริ่มต้นจาก Impressionism เรื่อยมาจนถึง Minimal Art ซึ่งอาจนับได้ว่าเป็นปลายยุคของวัฒนธรรม Modern ความเคลื่อนไหวของศิลปะในสมัยนี้สะท้อนถึงความสนใจของศิลปินที่มีต่อวิทยาการและเทคโนโลยี หรือผลผลิตจากกระบวนการในอุตสาหกรรม ศิลปินต่างยอมรับค่านิยมของผู้บริโภค ยอมรับบทบาทความเคลื่อนไหวของระบบเศรษฐกิจ วัสดุ และวิธีการสร้างงานคล้ายคลึงกับระบบโรงงานอุตสาหกรรม คิม เลวิน อ้างว่า อนาคตของเทคโนโลยียิ่งใหญ่ ศิลปินยอมรับ ศิลปินบางคนใช้วิธิการสร้างแบบแล้วส่งไปผลิตผลงานศิลปะในโรงงานดังเช่นศิลปินในกลุ่ม Minimal ฯลฯศิลปินในสมัยนี้จึงมีหน้าที่เสมือนนักวิทยาศาสตร์ที่มุ่งผลิตและค้นคว้าสิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆ ซึ่งเป็นยุคสมัยแห่งการค้นพบ วิทยาศาสตร์ และศิลปะจึงมีลักษณะร่วมกันคือคนดูไม่รู้เรื่อง และเข้าใจยาก ศิลปะเป็นสิ่งที่อยู่ห่างไกลกับประชาชน และอยู่ในมือของคนรวย การดูงานศิลปะจำต้องมีความรู้จึงจะเข้าใจ เปรียบกับวิทยาศาสตร์ที่มีคนน้อยคนที่จะเข้าใจเช่นเดียวกัน การกระหายสิ่งใหม่ เบื่อขอบเขตของศิลปะแบบเดิมๆ ต้องมีอะไรแปลกใหม่ตลอดไม่รู้จบเหมือนการตลาดจึงเป็นลักษณะของศิลปะในวัฒนธรรม Modernวัฒนธรรมสมัยใหม่จึงมีทัศนคติ และมีสัญลักษณ์คล้าย ตาราง ( Grid ) สำหรับวัดมาตรฐานสิ่งต่างๆว่ามีค่าหรือไม่มีค่าศิลปินและนักวิทยาศาสตร์จึงได้รับการยกย่องว่าเป็นอัจฉริยะ
หากแต่วัฒนธรรมย่อมมีการเปลี่ยนแปลง และนั่นหมายถึงเกิดการเปลี่ยนแปลงทางศิลปะด้วย
ราวปลายปี 1960 ศิลปินเริ่มหันกลับมามองสิ่งที่อยู่ใกล้ตัว เริ่มสงสัยในเทคโนโลยี และมีการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมที่ชัดเจน โดยเฉพาะ ในปี ค.ศ. 1968 ได้เกิดสงครามเวียตนาม ทำให้อเมริกันชนเริ่มสงสัยในการอ้างถึงความยิ่งใหญ่ของเทคโนโลยีของตน ความสงสัยเกิดขึ้นภายในใจของหลายๆคนว่าเทคโนโลยีสามารถนำพาชีวิตให้ดีขึ้นจริงหรือ หากดีขึ้นจะดีกว่าหรือแย่กว่าการดำเนินตามวิถีธรรมชาติ การถ่ายภาพทางอากาศรูปโลกของเราทำให้มองเห็นความสำคัญของธรรมชาติ และหันกลับมาถามตัวเองว่าเวลานี้ธรรมชาติอยู่ที่ไหน ต้นไม้ในกระถาง? ต้นไม้พันธุ์ใหม่ที่ถูกคิดค้น? สัตว์ในกรง? สัตว์เลี้ยงเพื่อเป็นอาหาร? สัตว์เลี้ยงในบ้าน?ฯลฯ หรือสิ่งเหล่านี้เป็นเพียงแค่กระบวนการ มีการต่อต้านการใช้เทคโนโลยีในทางที่ไม่ถูกต้อง เทคโนโลยีใหม่ให้ผลร้าย ไม่รับผิดชอบ วิทยาศาสตร์ทำลายสิ่งแวดล้อม ผลข้างเคียงจากเทคโนโลยีที่เกิดขึ้น และมองโลกในแง่ร้ายจากผลของการกระทำในยุค Modern มีการแสดงดนตรีใน Central Park สำหรับหนุ่มสาวที่ปฏิเสธค่านิยม Modern การแสดงดนตรี Woodstock นี้ มีผู้เข้าร่วมในกิจกรรมถึง 100000 คน หลายแห่งในเมืองใหญ่ๆของโลกเกิดการเดินขบวนเพื่อสิทธิ เสรีภาพ การรวมกลุ่มกันของชนชั้นกรรมาชีพ และมวลชน หรือกลุ่มหนุ่มสาวรุ่นใหม่ที่มีทัศนะแตกต่างกับอำนาจรัฐ และค่านิยมในวัฒนธรรม Modern การเกิดจราจลที่เกิดจากการแบ่งแยกสีผิวและคลี่คลายไปสู่ความเข้าใจ เป็นเหตุให้วัฒนธรรมตะวันตกจำเป็นต้องหันมองวัฒนธรรมตะวันออกและทำความเข้าใจอย่างถี่ถ้วน เป็นต้น
ผลจากการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมการขบถต่อจารีตเชิงอนุรักษ์แบบวัฒนธรรม Modern และการเปลี่ยนโครงสร้างทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม นำเราก้าวเข้าสู่วัฒนธรรมแห่งการผสมผสานระหว่างวัฒนธรรมตะวันตกกับตะวันออกวัฒนธรรมเก่ากับวัฒนธรรมใหม่ วัฒนธรรมชั้นสูงกับวัฒนธรรมมวลชน ศิลปะและวัฒนธรรมจึงถูกนำเสนอในชีวิตประจำวันในลักษณะที่เป็นศิลปะของมวลชนมากขึ้น ศิลปินรุ่นใหม่ที่เป็นศิลปินหนุ่มสาวต่อต้านการซื้อขายและสะสม
ศิลป สมบัติ สร้างงานจากเศษชิ้นส่วน และทำลายผลงานส่งกลับคืนธรรมชาติ หรือนำวัสดุที่ใช้แล้วนำมาใช้ใหม่ ศิลปิน
สนใจกระบวนการบันทึก และสถานการณ์แทนศิลปะวัตถุ ศิลปะเหลือเพียงแค่การรายงาน มีการยอมรับการถ่ายภาพ
เป็นศิลปะ ศิลปินอยากสร้างสิ่งที่เป็นจริง ภาพถ่ายเป็นการบันทึก เวลา สถานที่ เป็นสิ่งที่สำคัญ เป็นความจริง
 
Linda Nochlin (นักวิจารณ์ศิลปะ) กล่าวว่า"ศิลปะไม่ใช่การเปรียบเทียบ แต่เป็นความจริง ทฤษฎี ประวัติศาสตร์ และ
ความรู้ เป็นสิ่งที่แยกศิลปะออกจากชีวิตประจำวัน"
Donald Karshan นักวิจารณ์และศิลปินConceptual โจมตีความคิดที่
สนับสนุน วัฒนธรรม
Modern ที่ว่า องค์ประกอบศิลป์มีพลังอำนาจ และเป็นแกนของศิลปะ เขากล่าวว่า อย่านำทฤษฎีองค์ประกอบศิลป
์มาวิเคราะห์ศิลปะ
Postmodern
เขียนโดย โดย อ.นภพงษ์ กู้แร่ 
เอกสารประกอบการเขียน
Hertz, Richard., Editor. Theory of Contemporary Art. 1985.
Levin, Kim. Farewell to Modernism. 1979.
Mayer, Ralph. A Dictionary of Art Terms and Techniques. 1981.
Karshan, Donald. A Manifesto. 1970.
Nochlin, Linda. The Realist Criminal and the Abstract Law. 1985.


การวิเคราะห์วิจารณ์งานศิลปะ


การวิเคราะห์วิจารณ์งานศิลปะ 
ความหมาย
                   การวิเคราะห์งานศิลปะ หมายถึง การพิจารณาแยกแยะศึกษาองค์รวมของงานศิลปะออกเป็นส่วนๆ ทีละประเด็น ทั้งในด้านทัศนธาตุ องค์ประกอบศิลป์ และความสัมพันธ์ต่างๆ  ในด้านเทคนิคกรรมวิธีการแสดงออก เพื่อนำข้อมูลที่ได้มาประเมินผลงานศิลปะว่ามีคุณค่าทางด้านความงาม ทางด้านสาระ และทางด้านอารมณ์ความรู้สึกอย่างไร
             การวิจารณ์งานศิลปะ  หมายถึง การแสดงออกทางด้านความคิดเห็นต่อผลงานทางศิลปะที่ศิลปินสร้างสรรค์ขึ้นไว้ โดยผู้วิจารณ์ให้ความคิดเห็นตามหลักเกณฑ์และหลักการของศิลปะ ทั้งในด้านสุนทรียศาสตร์และสาระอื่นๆ ด้วยการติชมเพื่อให้ได้ข้อคิดนำไปปรับปรุงพัฒนาผลงานศิลปะ หรือใช้เป็นข้อมูลในการประเมินตัดสินผลงาน และเป็นการฝึกวิธีดู วิธีวิเคราะห์ คิดเปรียบเทียบให้เห็นคุณค่าในผลงานศิลปะชิ้นนั้น ๆ

คุณสมบัติของนักวิจารณ์

1. ควรมีความรู้เกี่ยวกับศิลปะทั้งศิลปะประจำชาติและศิลปะสากล
2. ควรมีความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ศิลปะ
3. ควรมีความรู้เกี่ยวกับสุนทรียศาสตร์ ช่วยให้รู้แง่มุมของความงาม
4. ต้องมีวิสัยทัศน์กว้างขวาง และไม่คล้อยตามคนอื่น
5. กล้าที่จะแสดงออกทั้งที่เป็นไปตามหลักวิชาการและตามความรู้สึกและประสบการณ์

ทฤษฎีการสร้างงานศิลปะ จัดเป็น 4 ลักษณะ  ดังนี้
1. นิยมการเลียนแบบ (Imitationalism Theory) เป็นการเห็นความงามในธรรมชาติแล้วเลียนแบบไว้ให้เหมือนทั้งรูปร่าง รูปทรง สีสัน ฯลฯ
2. นิยมสร้างรูปทรงที่สวยงาม (Formalism Theory) เป็นการสร้างสรรค์รูปทรงใหม่ให้สวยงามด้วยทัศนธาตุ (เส้น รูปร่าง รูปทรง สี น้ำหนัก พื้นผิว บริเวณว่าง) และเทคนิควิธีการต่างๆ
3. นิยมแสดงอารมณ์ (Emotional Theory) เป็นการสร้างงานให้ดูมีความรู้สึกต่างๆ ทั้งที่เป็นอารมณ์อันเนื่องมาจากเรื่องราวและอารมณ์ของศิลปินที่ถ่ายทอดลงไปในชิ้นงาน
4. นิยมแสดงจินตนาการ (Imagination Theory) เป็นงานที่แสดงภาพจินตนาการ แสดงความคิดฝันที่แตกต่างไปจากธรรมชาติและสิ่งที่พบเห็นอยู่เป็นประจำ
แนวทางการวิเคราะห์และประเมินคุณค่าของงานศิลปะ
            การวิเคราะห์และการประเมินคุณค่าของงานศิลปะโดยทั่วไปจะพิจารณาจาก 3 ด้าน  ได้แก่
1. ด้านความงาม
       เป็นการวิเคราะห์และประเมินคุณค่าในด้านทักษะฝีมือ การใช้ทัศนธาตุทางศิลปะ และการจัดองค์ประกอบศิลป์ว่าผลงานชิ้นนี้แสดงออกทางความงามของศิลปะได้อย่างเหมาะสมสวยงามและส่งผลต่อผู้ดูให้เกิดความชื่นชมในสุนทรียภาพเพียงใด ลักษณะการแสดงออกทางความงามของศิลปะจะมีหลากหลายแตกต่างกันออกไปตามรูปแบบของยุคสมัย ผู้วิเคราะห์และประเมินคุณค่าจึงต้องศึกษาให้เกิดความรู้ ความเข้าใจด้วย เช่น
ภาพแม่พระมาดอนนา พระเยซู และเซนต์จอห์น
(The Madonna and Child with The infant St. John)
เทคนิคสีน้ำมันบนแผ่นไม้
ผลงานของราฟาเอล (Raphael)
แสดงรูปแบบความงามของภาพโดยใช้รูปคนเป็นจุดเด่น
มีความเวิ้งว้างของธรรมชาติเป็นฉากหลังแสดงความตื้นลึกใกล้ไกล
โดยใช้แนวทางของทัศนียวิทยาและการจัดองค์ประกอบภาพในแนวกรอบสามเหลี่ยม
ซึ่งเป็นลักษณะความงามในการจัดองค์ประกอบศิลป์ที่ศิลปินในสมัย
ฟื้นฟูศิลปวิทยานิยมทำกัน

ภาพองค์ประกอบศิลป์ (Composition) 
เทคนิคสีน้ำมันบนผ้าใบ (พ.ศ.2472)
ผลงานของ พีต  มอนดรีอัน (Piet  Mondrian)
เน้นการออกแบบโดยเส้นที่ตัดกันเป็นมุมฉากระหว่างเส้นนอนกับเส้นตั้ง
เกิดเป็นบริเวณว่างให้มีความสัมพันธ์กันภายในกรอบสี่เหลี่ยม
ด้วยการใช้สีแดง เหลือง น้ำเงินที่สดใส รวมทั้งสีขาว ดำ และเทา
ในแบบนามธรรมที่ใช้เส้นเรขาคณิตเป็นหลัก

                   สรุปการวิเคราะห์และการประเมินคุณค่าของงานศิลปะในด้านความงามจะตัดสินกันที่รูปแบบการจัดองค์ประกอบศิลป์ให้เกิดคุณค่าทางสุนทรียศาสตร์ หรือการเห็นคุณค่าทางความงามนั่นเอง
2. ด้านสาระ
                 เป็นการวิเคราะห์และประเมินคุณค่าของผลงานศิลปะแต่ละชิ้นว่ามีลักษณะส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม ตลอดจนจุดประสงค์ต่างๆ ทางจิตวิทยาว่าให้สาระอะไรกับผู้ชมบ้าง ซึ่งอาจเป็นสาระเกี่ยวกับธรรมชาติ สังคม ศาสนา การเมือง ปัญญา ความคิด จินตนาการ และความฝัน เช่น 
 ภาพวันที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ.2351 (The Third of May 1808)
           ผลงานของฟรันซิสโก โจเซ เด โกยา (Francisco Jose de Goya) จิตรกรชาวสเปน
แสดงคุณค่าด้านสาระให้เห็นถึงความเจ็บปวดจากการถูกย่ำยีและเข้ายึดครองประเทศสเปนของทหารฝรั่งเศส ในสมัยนโปเลียนที่มีการสังหารประชาชนผู้แสวงหาอิสรภาพอย่างเลือด็น ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความไม่มีคุณธรรมในการปกครองบ้านเมือง

3. ด้านอารมณ์ความรู้สึก
          เป็นการคิดวิเคราะห์และประเมินคุณค่าในด้านคุณสมบัติที่สามารถกระตุ้นอารมณ์ความรู้สึกและสื่อความหมายได้อย่างลึกซึ้งของวัสดุ ซึ่งเป็นผลของการใช้เทคนิคแสดงออกถึงความคิด พลัง ความรู้สึกที่ปรากฏอยู่ในผลงาน เช่น  
ภาพฝูงกาเหนือทุ่งข้าวสาลี (Wheatfield with Crows)
เทคนิคสีน้ำมันบนผ้าใบ
ผลงานของ ฟินเซนต์ ฟาน ก็อก (Vincent Van Gogh)
แสดงพลังความรู้สึกของศิลปินแทรกอยู่ในรอยฝีแปรงของเส้นสี ซึ่งบ่งบอกถึงความรู้สึกภายในได้อย่างชัดเจน เป็นภาพเขียนชิ้นสุดท้ายในชีวิตที่อาภัพและรันทดของ ฟินเซนต์ ฟาน ก็อก ซึ่งเขียนภาพนี้ขึ้นก่อนยิงตัวตาย


 ประติมากรรมชื่อ ปิเอตา ( Pieta )
ผลงานของ มิเคลันเจโล (Michelongelo Buonarroti)
แสดงคุณค่าด้านความงามขององค์ประกอบศิลป์ที่จัดไว้ในแนวกรอบของรูปสามเหลี่ยม
ซึ่งเป็นการจัดองค์ประกอบศิลป์ที่นิยมกันมากในผลงาน ศิลปะสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยา
(Renaissance) นอกจากนั้นยังแสดงความงามของแนวเส้นโค้งของพระเศียรพระแม่มาเรีย
ที่ก้มพระพักตร์ลงกับแนวเส้นโค้งของพระวรกายองค์พระเยซูที่นอนพาดอยู่บนตัก
อย่างงดงามกลมกลืน ได้คุณค่าทางอารมณ์ความรู้สึกเป็นอย่างดี ทำให้มองเห็นถึงความรู้สึกของแม่
ผู้มีความรักความผูกพันต่อลูก รวมทั้งยังได้คุณค่าสาระทางด้านศาสนาอีกด้วย

      กระบวนการวิจารณ์งานศิลปะตามหลักการและวิธีการ
1. ขั้นระบุข้อมูลของผลงาน
          เป็นข้อมูลรายละเอียดสังเขปเกี่ยวกับประเภทของงาน ชื่อผลงาน ชื่อศิลปิน ขนาด วัสดุ เทคนิค วิธีการ สร้างเมื่อ พ.ศ.ใด ปัจจุบันติดตั้งอยู่ที่ไหน รูปแบบการสร้างสรรค์เป็นแบบใด

2. ขั้นตอนการพรรณนาผลงาน
       เป็นการบันทึกข้อมูลจากการมองเห็นภาพผลงานในขั้นต้นว่าเป็นภาพอะไร เช่น ภาพคน ภาพสัตว์ ภาพทิวทัศน์ ภาพหุ่นนิ่ง เป็นต้น มีเทคนิคในการสร้างสรรค์แบบใด     

3. ขั้นวิเคราะห์
          เป็นการดูลักษณะภาพรวมของผลงานว่าจัดอยู่ในประเภทใด พิจารณารูปแบบการถ่ายทอดเป็นแบบใด จำแนกทัศนธาตุและองค์ประกอบศิลป์ออกจากภาพรวมเป็นส่วนย่อยให้เห็นว้มีหลักการจัดภาพที่กลมกลืนหรือขัดแย้งอย่างไร

4. ขั้นตีความ
                เป็นการค้นหาความหมายของผลงานว่า ศิลปินหรือผู้สร้างสรค์ต้องการสื่อให้ผู้ชมผลงานได้รับรู้เกี่ยวกับอะไร เช่น สภาพปัญหาในชุมชน สังคม และภูมิปัญญาท้องถิ่น เป็นต้น

5. ขั้นประเมินผล
                เป็นการประเมินคุณค่าของผลงานศิลปะชิ้นนั้นจากการพิจารณาทุกข้อในเบื้องต้น สรุปให้เห็นข้อดีและข้อด้อยในด้านเนื้อหาและเรื่องราว หลักทัศนธาตุและหลักการจัดองค์ประกอบศิลป์ ทักษะ ฝีมือ และการถ่ายทอดความงาม เพื่อการพัฒนาหรือตัดสินผลงานชิ้นนั้น

ตัวอย่างการวิจารณ์งานศิลปะ

1. ขั้นระบุข้อมูลของผลงาน
    ประเภทงาน                :     จิตรกรรม
     ชื่อผลงาน                   :    <โมนาลิซา ( Mona Lisa )
     ชื่อศิลปิน                    :    เลโอนาร์โด ดา วินชี ( Leonado da Vinci ) ศิลปินชาวอิตาเลียน
     ขนาดผลงาน              :     >77 x 53 ซม.
     เทคนิค วัสดุ               :     สีน้ำมันบนแผ่นไม้
     ผลงานสร้างเมื่อปี        :    พ.ศ.2046 - 2049 ( ค.ศ.1503 - 1506 )
     ปัจจุบันอยู่ที่                :    พิพิธภัณฑ์ลูฟว์ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส
     รูปแบบการสร้างสรรค์   :    เป็นงานศิลปะตะวันตก การถ่ายทอดรูปแบบเหมือนจริงตามลักษณะแบบอย่าง
                                              ของศิลปะสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยาการ ( Renaissance )

2. ขั้นพรรณนาในผลงาน
         เป็นภาพเขียนครึ่งตัว ( Portrait ) สุภาพสตรีผมยาวมีผ้าคลุม หวีผมแสกกลาง เสื้อคลุมด้วยสีดำเรียบ เห็นใบหน้าเกือบตรง ลำตัวบิดเบี้ยวเล็กน้อย มือขวาวางคว่ำสัมผัสข้อมือซ้ายที่วงาราบอยู่บนที่วางแขนของเก้าอี้ เบื้องหลังเป็นภาพของทิวทัศน์สงบเงียบ บรรยากาศเร้นลับ ชวนฝัน

 ภาพส่วนขยายนัยน์ตาและรอยยิ้ม ของโมนาลิซา ที่แสดงออกถึง
                   ความรู้สึกที่ต้องการค้นหาบางสิ่ง ซ่อนเลศนัยและปริศนาให้ผู้ดู
                   บังเกิดความรู้สึกและตั้งคำถามว่า โมนาลิซากำลังคิดอะไรอยู่

3. ขั้นวิเคราะห์
         เป็นงานจิตรกรรมที่มีคุณค่าในการแสดงออกทั้งในด้านความงาม ด้านสาระ และด้านอารมณ์ความรู้สึก
         ด้านความงาม  เป็นภาพที่สร้างสรรค์โดยยึดทฤษฎีการเลียนแบบตามธรรมชาติ คือ การเลียนแบบความ งามตั้งแต่รูปร่าง รูปทรง สีสัน และน้ำหนักแสงเงา
         เป็นภาพที่มีเอกลักษณ์เฉพาะของเลโอนาร์โด ดา วินชี ในการเขียนภาพผู้หญิง คือ นิยมเขียนคิ้วบางเลือนราง และมีรอยยิ้มมุมปากที่คล้าย ๆ กันกับภาพอื่น ๆ ของเขา 
        เป็นภาพที่มีเอกลักษณ์ในการจัดภาพตามแบบอย่างของศิลปะสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยาการ (Renaissance) คือ มีบุคคลเป็นประธานของภาพและมีฉากหลังเป็นทิวทัศน์แสดงบรรยากาศตามจินตนาการ เพราะศิลปินในสมัยนั้นมีความเชื่อว่ามนุษย์เป็นศูนญ์กลางของจักรวาล เป็นผู้ควบคุมธรรมชาติ ยึดมั่นในเหตุผล คุณค่าของความเป็นมนุษย์อยู่ที่ความคิด ความรู้ และความสามารถ
         ด้านสาระ เป็นภาพที่แสดงให้เห็นวัฒนธรรมการแต่งกายของคนชั้นสูงในสมัยนั้น ทั้งด้านเสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม และความนิยมในการไว้ผมยาวหวีแสกกลางตามสมัยนิยม ในแฟชั่นแบบฟลอเรนไทน์ในอิตาลี นอกจากที่ปรากฏให้เห็นในภาพโมนาลิซา ยังเห็นได้ในภาพอื่นๆ ของเขาอีก
        นอกจากนี้ ภาพโมนาลิซายังเป็นภาพที่เลโอนาร์โด ดา วินชี ถ่ายทอดบุคลิกของตนเองแฝงไว้ในใบหน้าของโมนาลิซา ซึ่งจะมีลักษณะเค้าโครงรูปหน้าที่คล้ายกัน
           ด้านอารมณ์ความรู้สึก  เป็นภาพที่แสดงออกให้เห็นถึงอารมณ์ความรู้สึกภายในของโมนาลิซาที่แฝงอยู่ในท่าทาง และสะท้อนให้เห็นได้จากนัยน์ตาและรอยยิ้มปริศนา รวมทั้งความรู้สึกที่รับรู้ได้จากบรรยากาศในม่านหมอกของฉากหลัง

           การวิเคราะห์ทัศนธาตุ 
       
เส้น แสดงการใช้เส้นโค้งและเส้นลักษณะอื่นๆ ได้สัมพันธ์กลมกลืนกัน ทั้งในส่วนของใบหน้า เส้น
                      ผม ผ้าคลุม รอยยับของผ้า นิ้วมือ แนวเส้นของทางเดิน และสายน้ำลำธารของฉากหลัง
รูปร่าง รูปทรง แสดงรูปร่าง รูปทรง ลักษณะธรรมชาติของคน และทิวทัศน์ได้อย่างสวยงาม
สี                   แสดงภาพสีส่วนรวมเป็นโทนสีน้ำตาลอมเขียวและดำ เพื่อใช้เป็นสัญลักษณ์ในการสื่อความ
                    หมาย สีน้ำตาลหมายถึงธรรมชาติหรือโลก สีน้ำตาลออกดำหมายถึงความสุขุม ความลึกลับซ่อน
                    เร้น และสีเขียวหมายถึงชีวิต ขนาด สัดส่วน   แสดงขนาดของคนได้เหมาะสมกับขนาดภาพ 
                    และแสดงสัดส่วนทางกายวิภาคได้ถูกต้อง งดงามตามธรรมชาติ
แสงเงา         แสดงการใช้แสงเงาที่กลมกลืนเหมือนธรรมชาติ แสงเงาส่วนรวมของภาพมีน้ำหนักเข้มมืด 
                    บริเวณใบหน้าและมือให้แสงสว่างมาก และมีน้ำหนักเงาอ่อน
บริเวณว่าง    แสดงบริเวณว่างรอบตัวโมนาลิซาเป็นทิวทัศน์อยู่ฉากหลัง นอกจากจะทำพให้ภาพดูโปร่งตาไม่
                   ทึบตันเกินไป ยังทำให้ภาพมีระยะใกล้ไกล มีมิติตื้นลึก และเหมือนจริง
ลักษณะผิว    แสดงการใช้ลักษณะผิวในส่วนของใบหน้าและมือด้วยการเกลี่ยสีให้นุ่มนาลสอดคล้อง สมวัย 
                   และเหมือนจริง โดยเฉพาะมือขวาให้ความรู้สึกเหมือนมีเลือดเนื้อจริงๆ

          การวิเคราะห์หลักองค์ประกอบศิลป์

เอกภาพ       การจัดภาพโดยรวมมีความเป็นเอกภาพด้วยเส้น รูปร่าง รูปทรง สี แสงเงาที่สัมพันธ์กลมกลืน
                   กันทั้งรูปคนและธรรมชาติ ทำให้ทั้งภาพดูเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
ดุลยภาพ      แสดงภาพโมนาลิซาตรงแกนกลาง วางท่าอยู่ในแนวรูปสามเหลี่ยม จัดวางทิวทัศน์ไว้ในบริเวณ
                   ว่าง มัลักษณะของดุลยภาพแบบซ้ายขวาเท่ากัน ซึ่งให้ความรู้สึกสงบทางกายภาพ
จุดเด่น        แสดงจัดเด่นอยู่บนใบหน้า มีดวงตาที่ให้ความรู้สึกเหมือนมองผู้ดูผลงานอยู่ตลอดเวลาและรอย
                  ยิ้มที่เป็นปริศนา
ความกลมกลืน แสดงการจัดภาพของส่วนประกอบต่างๆ ทางทัศนธาตุ ทั้งรูปแบบของเส้น รูปร่าง รูปทรง สี 
                  ขนาด สัดส่วน แสงเงา บริเวณว่าง และพื้นผิวได้อย่างสัมพันธ์กลมกลืนกันทั้งเทคนิค วิธีการสร้าง
                   สรรค์ ซึ่งสอดประสานกับอารมณ์ ความรู้สึกของภาพได้อย่างงดงาม
ความขัดแย้ง   แสดงความขัดแย้งในด้านน้ำหนัก สี แสงเงา ส่วนรวมของภาพมีความเข้มคล้ำ ต่างกับส่วนใบ
                     หน้าที่ใช้น้ำหนักสี สงเงาอ่อนกว่า แต่มีผลดีคือช่วยส่งเสริมบริเวณส่วนใบหน้าให้มีความเจิด
                     จ้า  เด่นชัด และงดงามยิ่งขึ้น

4. ขั้นตีความ
         เป็นงานจิตรกรรมภาพเหมือน (Portrait) ที่มีชื่อเสียงมาก เป็นภาพของหญิงสาวในท่านั่ง แต่งกายตามสมัยนิยมในแฟชั่นแบบฟลอเรนไทน์ในอิตาลี เบื้องหลังเป็นภาพทิวทัศน์ภูเขาที่ดูนุ่มเบา แสดงออกทางอารมณ์ความรู้สึกบนใบหน้า โดยเฉพาะแววตาและรอยยิ้มที่เป็นปริศนา ไม่สามารถจะบอกได้ว่าเธอกำลังยิ้ม หัวเราะ ร้องไห้ หรือเธอต้องการบอกอะไรบางอย่างกันแน่ ผู้ที่ได้ชมภาพนี้จะเกิดจินตนาการในการสร้างความรู้สึกหรืออารมณ์เข้าไปในภาพด้วย

5. ขั้นประเมินผล
           
          หลักทัศนธาตุและหลักการจัดองค์ประกอบศิลป์
          ศิลปินนำหลักทัศนธาตุและการจัดองค์ประกอบศิลป์มาใช้ให้เกิดความสัมพันธ์กันทั้งในส่วนประธานและส่วนรองของภาพ ทำให้ผลงานมีเอกภาพ ดุลยภาพ จุดเด่น ความกลมกลืนและความขัดแย้งได้งดงามตามกรรมวิธีการจัดองค์ประกอบศิลป์แบบศิลปะสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยาการ (Renaissance)

          ทักษะฝีมือและการถ่ายทอดความงาม
            จิตรกรมีทักษะและความสามารถในการเขียนภ่าพเหมือนจริง และพัฒนากรรมวิธีการแก้ปัญหาระยะตื้นลึกของภาพโดยใช้เทคนิคภาพสีหม่น  (Sfumato) ทำให้ฉากหลังดูนุ่มเบา และใช้โทนสีหนักกับตัวนางแบบ นอกจากนี้จิตรกรยังนำหลัก ทัศนมิติเชิงอากาศ (Aerial Perspective) มาใช้ในการแก้ปัญหาระยะตื้นลึก คือการทำให้ภาพดูเหมือนกับมองผ่านปริมาณอากาศ สีของสิ่งที่อยู่ในระยะไกลดูจางลงเป็นลำดับ ซึ่งจะขึ้นอยู่กับปริมาณความชื้นในอากาศ สีและเส้นรอบนอกของสิ่งที่อยู่ระยะไกลในภาพทิวทัศน์จะมีความชัดเจนน้อยกว่าสิ่งที่อยู่ในระยะใกล้ ทำให้ภาพดูมีระยะตื้นลึก ซึ่งปรากฏในส่วนฉากหลังของโมนาลิซา จัดเป็นภาพที่แสดงระยะตื้นลึกและบรรยากาศยามหมอกลงจัดได้อย่างน่าชม



ข้อมูลจาก http://cheeranan.exteen.com/20071216/entry